หน้าแรก

วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ไม้ม้วน (ใ)

ไม้ม้วน (ใ)

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีตำราเรียนระบุการใช้ไม้ม้วน ในคำศัพท์จำนวน 20 คำ โดยมีคำกลอนแต่งไว้ในหนังสือจินดามณีดังนี้

ใฝ่ใจแลให้ทาน   ทังนอกในแลใหม่ใส
ใครใคร่แลยองใย   อันใดใช้แลใหลหลง
ใส่กลสใพ้ใบ้   ทังใต้เหนือแลใหญ่ยง
ใกล้ใบแลใช้จง   ญี่สิบม้วนคือวาจา


ส่วน ในหนังสือหนังสือประถมมาลา แต่งโดยพระเทพโมลี (ผึ้ง) ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ให้หลักการใช้ไม้ม้วน โดยที่สองบทท้ายเป็นคำกลอนจากตำราจินดามณีนั่นเอง ดังนี้

หนึ่งไซร้หมู่ไม้ม้วน   ปราชประมวลแต่บูราณ
จักลอกจำลองสาร   ตามอาจารย์บังคับไข
ใฝ่ใจให้ทานนี้   นอกในมีแลใหม่ใส
ใครใคร่แลยองใย   อันใดใช้อย่าใหลหลง
ใส่กลสะใภ้ใบ้   ทั้งต่ำใต้และใหญ่ยง
ใกล้ใบแลใช่จง   ใช้ให้คงคำบังคับ


หลังจากนั้น ยังมีบทกลอน (กาพย์ยานี) ที่สอนการใช้ไม้ม้วน ที่รู้จักกันดีจนปัจจุบัน ดังนี้

ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่   ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ
ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ   มิหลงใหลใครขอดู
จักใคร่ลงเรือใบ   ดูน้ำใสและปลาปู
สิ่งใดอยู่ในตู้   มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง
บ้าใบ้ถือใยบัว   หูตามัวมาใกล้เคียง
เล่าท่องอย่าละเลี่ยง   ยี่สิบม้วนจำจงดี


เป็น ที่น่าสังเกตว่า ในสยามนั้นการใช้ไม้ม้วนจำกัดอยู่ที่คำศัพท์ 20 คำ มาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย และคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น จะใช้ไม้มลายทั้งสิ้น (เว้นแต่ลูกคำที่แตกจากแม่คำ ซึ่งใช้ไม้ม้วนอยู่แล้ว) แม้คำศัพท์เฉพาะ ที่เป็นชื่อต่างๆ ก็ไม่นิยมที่จะใช้ไม้ม้วนนอกเหนือจาก 20 คำดังกล่าว

คำที่ใช้ไม้ม้วนในปัจจุบัน
•   ใกล้
•   ใคร
•   ใคร่
•   ใจ
•   ใช่   •   ใช้
•   ใด
•   ใต้ (นิยมออกเสียงเป็น ต้าย)
•   ใน
•   ใบ   •   ใบ้
•   ใฝ่
•   สะใภ้
•   ใย (ยองใย, เยื่อใย, ใยบัว, ห่วงใย)
•   ใส   •   ใส่
•   ให้
•   ใหญ่
•   ใหม่
•   ใหล (หลงใหล, หลับใหล, ใหลตาย)

นำมาวางไว้เพื่อได้ทบทวนความจำ(ตัวเอง)
.
บ้านริมโขง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น