หน้าแรก

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559

**@ การเขียนร้อยกรอง(กลอนแปด) @**




บรรยายคำ
.
กลอนแปดนั้นฉันทลักษณ์ของอักษร
พึงสังวรวงวรรณต่างปั้นแต่ง
ตามหลักครูผู้เขียนไม่เปลี่ยนแปลง
นำแสดงด้วยคำพอทำเนา
.
เขียนร้อยกรองต้องเสียงสำเนียงหลัก
“ฉันทลักษณ์” เรื่องใหญ่หัวใจเขา
แต่มากล้วนชวนเฉยละเลยเรา
ไม่ขัดเกลากลุ่มเสียงที่เรียงคำ
.
สี่วรรคอ่านขานถึงว่าหนึ่งบท
วรรคหนึ่งสด “สดับ” เรียกรับร่ำ
วรรคสอง “รับ” นับต่อให้ขอจำ
วรรคสามนำเนื่องนักว่าวรรค “รอง”
.
วรรคที่สี่รี่ร้อยวรรคคอย “ส่ง”
ทุกอย่างคงควรค่าศรัทธาสนอง
เสียงท้ายวรรคหลักนั้นสำคัญครอง
ทุกวรรคจองจำเสียงสำเนียงตน
.
วรรค “สดับ” จับเรียงทุกเสียงสวย
วรรค “รับ” ด้วย ดีนั้นสัมพันธ์ผล
เอก,โท คัด จัตวาเป็นสากล
“รอง”, “ส่ง” ดล ด้วยกัน สามัญ ตรี
.
คำที่ “สาม” ตามนำหรือคำ “ห้า”
สัมผัสพาเพื่อเรียงกับเสียงที่..
วรรค “สดับ” กับ “รอง” คล้องไมตรี
ส่งมอบมีมุ่งหมายเป็นลายกลอน
.
เน้นเสียง “ส่ง” จงจำว่าคำไหน
แล้วอย่าให้เหหวนก่อกวนก่อน
ลงให้ติดคิดแหล่งตำแหน่งวอน
ตามคำสอน “สาม” , “ห้า” ให้ค่าควร
.
อย่าวางเสียงเกี่ยงกันให้ผันผก
อย่าตลกเลือกรับเล่นกลับผวน
อย่าวางส่งหลงรับเหมือนกลับทวน
อย่าเรรวนเรี่ยราดวางพลาดคำ
.
เห็นสลอนกลอนเขียนวนเวียนร่าย
ดีความหมายหมดงามเมื่อยามร่ำ
ด้วยสัมผัสจัดเพี้ยนไม่เพียรจำ
เสียงสูงต่ำต่อตามล้วนลามรวน
.
“ชิงสัมผัส” จัดเรียงให้เสียงหลง
ไม่อยู่ตรงตำแหน่งที่แบ่งส่วน
รีบมาก่อนวอนขอเหมือนก่อกวน
ทั้งสำนวนนั้นเหมือนเลอะเลือนกาย
.
“สัมผัสซ้ำ” คำเหมือนปนเปื้อนรส
ไม่ใสสดเสียงปรุงตามมุ่งหมาย
“สัมผัสเลือน” เหมือนคุณใจวุ่นวาย
“หลงสัมผัส” ผลคล้ายลืมปลายทาง
.
สัมผัสเสียงเรียงสระให้จะแจ้ง
วรรณยุกต์แสดงไม่แปร่งข้าง
เสียง “น้ำ” “นาม” ตามเขียนล้วนเวียนวาง
แม้แตกต่างตัวสระก็จะเอา
.
ส่งสื่อสารผ่านประเด็นที่เห็นเสมอ
นำเสนอเนื้อในพอไม่เหงา
เห็นเนื้อนอกพอกจัดชวนขัดเกลา
เป็นเรื่องเล่าร่วมเรียงไว้เคียงกลอน๚ะ๛
☆✾☆



๒๒ กันยายน ๒๕๕๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น