หน้าแรก

วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ไร้ราคา


ไร้ราคา
.
ทำอะไรให้เห็นดูเด่นเกิน
ดั่งเชื้อเชิญองค์เทพเสพสนอง
ดั่งโหนเจ้าเข้าข้างทางลำพอง
คึกคะนองว่าเลิศเกิดศักดา
.
เพียงหมายมาดอาจชี้ตรงดีเด่น
ซื้อของเล่นเช่นตนหลากล้นค่า
หมายเชิดชูผู้ปองครองศรัทธา
สู้เสาะหาเหิมเห่อเธอเทพไทย
.
แต่อื่นมองคล้องคำ ตกต่ำจิต
หลายคนคิดคุณค่าปัญญาไหล
ขาดเหตุผลคนครองมาคล้องใจ
ศาสนาใดใครยื้อว่าคือตน
.
เหมือนนอกรีดขีดชั้นอันศรัทธา
นอกศาสนานำสู่ผู้หมองหม่น
ไร้ที่เหนี่ยวเปลี่ยวจิตชีวิตคน
หมกมุ่นบนบำบวงดวงชะตา
.
เหมือนอยากร่ำนำรวยอวยเทพสม
หมายเปิดปมอำนาจวาสนา
แต่เกียจคร้านงานการวานเทวา
เลยบูชาชูเชิดเทิดทูนทาง
.
เป็นสังคมบ่มสู่ผู้มากมี
แต่บัดสีสิ้นค่าปัญญาสร้าง
เกิดมารวยด้วยทรัพย์กลัวอับปาง
เอาเทพวางหวังสู้อยู่ยั่งยืน
.
โปรดเผื่อแผ่แลดู ผู้เขลาจิต
เพื่อนเห็นผิดเป็นชอบปลอบให้ตื่น
รู้ทำมาหากินให้ผินคืน
อย่าไปฝืนกราบเทพ เสพมนต์ดำ
.



วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

หลายล้นผจญลึก



หลายล้นผจญลึก
.
เกินหยั่งระวังยาก .......กินหมากระวังเหม็น
เกินพ้อลออเพ็ญ .........เกินเข็นกระเด็นคำ
.
แอบมองละอองหมาย .......รินร่ายระบายร่ำ
อยากเอื้อนเสมือนอำ .......อยากจำกระหน่ำใจ
.
แต่คงประสงค์คอย ........ จากถ้อยทยอยไถ่
จะครองฉลองใคร ............ยากไหมพิไรมาน
.
ร่ำร่ำพิลาปรอน ............เว้าวอนวิวาห์หวาน
อยากเพิ่มเผดิมพาน......... เติมตาลผสานตน
.
อย่าห่อลออห่าม ................สุกตามอร่ามต้น
อย่าปิดลิขิตปน ...............อย่าล้นกมลลวง
.
ลึกนักสลักหน่าย ..........ลึกหลายสลายหลวง
ลึกเดี๋ยวเฉลียวดวง ..........ลึกกลวงสลวงเดือน๚ะ๛
.






กลบทอัษฎางค์ดุริยา
.
คำอธิบายผัง :
.
X และ X ในแต่ละวรรค ต้องเป็นคำสัมผัสอักษร คือใช้อักษรตัวเดียวกัน
หรือ อักษรสูงต่ำคู่เสียง เช่น รอ-เรียน เวียน-หวัง ขลัง-คลาย ฉาย-ชม เป็นอาทิ
.
O-O ในแต่ละวรรค เป็นคำ ๒ พยางค์ที่มีลหุชุดเดียวกัน เป็นต้นว่า
ประคับ ประคอง ประลอง ประโลม ประมวล ประมาณ ประสาน ประโยชน์
.
เส้นโยง บอกถึงคู่คำที่สัมผัสเสียงสระกัน เหมือนที่ใช้ในผังร้อยกรองทั่วไป

ลึกเกินหยั่ง


ลึกเกินหยั่ง
.
เกินจะหยั่งดังปองสนองผล
เกินคิดค้นควานถึงซึ่งปัญหา
เกินละไว้ไม่แจ้งแข่งเวลา
เกินศรัทธาที่สร้างจะสางทัน
.
เหมือนยิ่งหยั่งตั้งตรึกยิ่งลึกลิบ
แสงแวววิบวิ่งแยกแตกดับขันธ์
มองมืดดับลับหายสายจำนรรจ์
ให้เหหันหวนหดกำสรดทรง
.
ชะงักงันวันก้าวร่างร้าวกรอบ
ทุกทิศครอบตามตนหล่นประสงค์
ไม่รู้เลยเคยรู้ดูงุนงง
สัญญาณส่งหลงทิศดังบิดเบือน
.
อีกครั้งคราสาไถยหัวใจจับ
อีกครั้งนับปรับตั้งอีกครั้งเฉือน
อีกครั้งรอต่อพลาดอาจเลอะเลือน
อีกครั้งเหมือนมอดดับมีลับลวง
.
จะหยั่งใดไหนลึกได้ศึกษา
หยั่งสายตาต้องพลาดและขาดช่วง
จะหยั่งคนค้นคนล้นกลกลวง
หยั่งทั้งปวงเป็นผล เว้น “คน” เรา
.
จึงตั้งทรงตรงหยุดไม่ผุดผัน
ปล่อยทุกวันเวียนว่ายสายทางเก่า
หยุดวิ่งไล่ไร้แรงมาแบ่งเบา
จะปีแล้วปีเล่า..ก็เท่าเดิม๚ะ๛
.



เส้นสีแสงแห่งศรัทธา


เส้นสีแสงแห่งศรัทธา
.
ทุกสังคมสมสู่ที่อยู่ยั้ง
ย่อมมีทั้งดีชั่วกลั้วสลอน
เหมือนป่าพงดงดิบขลิบอัมพร
ย้ำสะท้อนแตกต่างทางสายพันธ์
.
สังคมสงฆ์จงจะพระสาวก
ไม่ปลอดปกหมกมารมาขานขัน
มากเดียรถีย์*มีปนล้นอนันต์
เน่าหนอนนั้นเนืองนองลำพองพิษ
.
อย่ามองพุทธสุดท้ายหมายเพียงพระ
มองพุทธะปฏิปทามาคล้องจิต
มองหลักสอนย้อนย้ำคอยนำทิศ
มองลิขิตไตรคมปฐมนำ
.
พุทธเป็นวิทย์พิชิตไฟไหนก็ได้
กาลผ่านไปไร้หม่นแม้คนย่ำ
พุทธ ผู้รู้ ผู้เพียร ไม่เปลี่ยนคำ
งามเลิศล้ำเหลือล้น คนศรัทธา
.
ไม่มองพระละกฎว่าหมดสิ้น
เพียงโชยกลิ่นว่าเน่าเล่ามุสา
ไม่มองเปลือกเลือกแก่นแม่นสายตา
พุทธบูชา ใช่มนุษย์ ผู้ขุดเวร
.
ล้วนคำสอนป้อนใส่ไตรปิฎก
คือพระธรรมนำยกใช่ถกเถร
ชำระจิตพิชิตใจใส่กฎเกณฑ์
คือสายเส้นเจนจัด..ศรัทธาธรรม๚ะ๛
.

เดียรถีย์* น.นักบวชนอกพระพุทธศาสนา
ในอินเดียเมื่อครั้งพุทธกาล



กูอายกู


กูอายกู
.
หรือเพียงนี้ที่ทำเพียงพร่ำถ้อย
หรือเพียงคอยอ้ำอึ้งตะลึงสิ้น
หรือมีปากไร้ปากมากราคิน
หรือเพียงยินเสียงการ้องมาทัก
.
หรือมิใช่ใครสู กูผู้เดียว
หรือไยเหลียวแลหลังให้พลั้งหลัก
หรือมึงด้วยช่วยกูเป็นหมู่ยักษ์
หรือมึงรักมึงเล่นกูเผ่นเอง
.
เมื่อตัวใครไม่ว่างต่างตัวมัน
เมื่อตัวดันดิ้นปรับกลับนอนเขลง
เมื่อชาตินี้มีไปให้วังเวง
เมื่อชาติเครงโครงร่าง..จะอย่างไร
.
แล้วสีขาวราวรุ่นก็ขุ่นข้น
หลายสีปนแปดเปื้อนเหมือนหนองไหล
กลิ่นสีกลบครบเหม็นกระเด็นไกล
หนอนชอนไชใหญ่น้อยคอยชูคอ
.
แล้วชาติไทยไหนเพลงบรรเลงอ้าง
ว่าสีต่างที่สื่อคือใดก่อ
ลูกหลานเหลนเผ่นโผนโยนด่าทอ
ด่าแม่-พ่อ ไม่ติดไม่ตามเติม
.
อายถึงฟ้าหน้าแถนแสนสลด
อายไปหมดชาติศักดิ์สิ้นหลักเสริม
อายตัวกู-ตัวมึงถึงชาติเดิม
กูอายเพิ่ม เพราะกู..เพียงดูดาย..๚ะ๛
.




หรืออย่างไร



หรืออย่างไร
.
สัญลักษณ์ชาติไทยคือ “ไตรรงค์”
สามสีคงยงยืนเป็นพื้นฐาน
สี “แดง”หมาย ถึง “ชาติ” วิลาสมาน
“ขาว”ตระการ คือ “ศาสน์” ของชาติไทย
.
“น้ำเงิน”หรือคือ “องค์พระกษัตริย์”
พระมิ่งขวัญเลิศรัตน์ ที่ยิ่งใหญ่
รวมสามสีมีมาค่าวิไล
ลือเลื่องไกลกล่าวขานบ้าน “ขวานทอง”
.
จากโบราณบ้านเมืองรุ่งเรืองโรจน์
ชาวโลกโจทย์จรรงามยามฟ้าฟ่อง
เป็นเมือง “พุทธ” สุดงามตามครรลอง
เป็นเมืองของศาสนาพระโคดม
.
สุโขทัย,อยุธยา มา “รัตนะ”
โลกแจ้งจะพระสงฆ์ตรงเหมาะสม
จรรโลงศาสน์ราษฎร์ประชาพาอุดม
“พุทธ” ห่อห่มไทยอยู่คู่ฟ้าดิน
.
มากวัดวาอารามตามสถาน
มากอาคารปานแมนแดนถวิล
มากค่าควรล้วนเลิศเทิดชีวิน
มากสมจินต์อินทร์กษัตริย์เคร่งครัดความ
.
มาบัดนี้สี “ขาว” มาพราวพร้อย
เกิดเป็นรอยคล้อยหมองทำนองห้าม
“พุทธ” เคยใส่ในสีที่งดงาม
“ใคร” มาปรามห้ามพุทธ ให้หลุดพรหม
.
หรือจะเอาเขาใครใส่ “สีขาว”
ถึงจะพราวขาวนวลชวนเหมาะสม
หรือจะรื้อถือแกว่งตามแรงลม
หรือจะถมเททับ ทรัพย์แผ่นดิน๚ะ๛
.

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีบันทึกเรื่องธงชาติ ใน พ.ศ. 2470
เพื่อรวบรวมความคิดเห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงธงชาติจากบุคคลกลุ่มต่าง ๆ
เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีการเปลี่ยนธงชาติหลายครั้ง กรมราชเลขาธิการได้รวบรวมความเห็นเรื่องนี้จากที่ต่าง ๆ
รวมทั้งในหนังสือพิมพ์ เพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งในบรรดาเอกสารดังกล่าว
ปรากฏว่าในหมู่ผู้ที่สนับสนุนให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป ได้มีการให้ความหมายของธงที่กระชับกว่าเดิม

กล่าวคือ

สีแดงหมายถึงชาติ
สีขาวหมายถึงพุทธศาสนา
สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์

ซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ไปเล็กน้อย
แต่ยังครอบคลุมอุดมการณ์ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์"
ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้เช่นเดิม และยังเป็นที่จดจำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบั�

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%98%E0%B8%87
%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8
%B4%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2



๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

ตามแลแต่แง่ดี


ตามแลแต่แง่ดี
.

สายตาตนคนมองสนองจิต
แลตามทิศที่ใจใฝ่แสวง
สิ่งนำพาคราครั้งดั่งระแวง
มากสีแสงแต่งแต้มแซมวิไล
.
เหลือหลากรสสดเสียงสำเนียงอ้อน
เหลืออาทรทวงทางต่างขานไข
เหลือรูปทรงส่งสื่อระบือไกล
เหลือห้ามใจให้แกร่งต้านแรงมอง
.
จะเลือกตามงามตามาเชยชิด
หรือเลือกจิตเจตนามาสนอง
จะเลือกเปลือกปิดปกตกทำนอง
หรือเลือกลองปองไปสมใจตน
.
มีให้เลือกเกลือกกลั้วถึงหัวเท้า
มีเริงเร้าเร่งรัดไม่ขัดสน
มีทั้งสิ้นดินฟ้าป่าพยนต์*
มีให้คนล้นทั่วทั้งชั่วดี
.
ต่างเลือกสรรปัญญาค่าของตน
นำชี้จนจับงามตามวิถี
ปัญญาใครไหนเลิศบุญเกิดมี
ได้พบที่ศรีสุข ไม่ทุกข์ตรม
.
ให้มองแลแต่ดีที่ไร้แง่
เกลี้ยงเกลาแท้แลตามช่างงามสม
อิ่มกายใจไร้ร้อนซุกซอนซม
เกิดแดนพรหมขมได้ ถ้าไร้ “ธรรม”๚ะ๛
.
พยนต์* น.สิ่งที่ผู้ทรงอาคมปลุกเสกให้มีชีวิตขึ้นมาเพื่อใช้งาน
..........☆☆☆...........



รักอ้อนวอนสวรรค์


รักอ้อนวอนสวรรค์
.
อย่าเปล่งเสียงเพียงถ้อยที่พล่อยปาก
อย่ากล่าวจากเจื่อนจิตเบือนบิดอ้าง
อย่าคะนองลองรสกำหนดวาง
อย่าสาบสางสิงห์เสือเกื้อกลิ่นคน
.
ต้องมีหลักปักลึกผนึกแน่น
ต้องมีแก่นมีก้านต้านลมหล่น
ต้องมีใจใสส่องกล่องกมล
ต้องมีตนมีตัวรู้ชั่ว-ดี
.
ถึงเอ่ยต่อพอคำน้อมนำให้
วาดวิไลร่มรื่นชื่นสุขี
อะไรหรือคือรักหลักไมตรี
อะไรมีชี้มอบมาตอบแทน
.
รักแลกรักหลักการสมานผล
รักสองคนเคียงกายหมายสุขแสน
รักต้องเทียมเปี่ยมปริ่มอิ่มทั่วแดน
รักคล้องแขนแดนใดไม่ปรารมภ์
.
จะสุข-ทุกข์คลุกเคล้า-เหงารันทด
จะไม่หมดมาดหมายกลายกลับขม
จะไม่เหมือนเดือนจากพลัดพรากพรหม
จะห่อห่มห่อนให้ อาลัยลวง
.
“ผมรักคุณ” หนุนค่า “สัญญา” รัก
มอบสลักปักแน่นกลางแก่นสรวง
“ผมรักคุณ” บุญก่อหน่อทั้งปวง
เสริมเติมดวงช่วงชั้น..สวรรค์วอน๚ะ๛
.



ใจไม่จำ


ใจไม่จำ
.
ไม่ใกล้ตายหมายใดไม่รู้ค่า
เกิดโลภาเพราะอยากเมื่อปากบ่น
อยากรวยเลิศเฉิดโฉมประโลมลน
ตกวังวนยศฐาสารพัน
.
ปัจจัย ๔ ที่ฐานมองผ่านเฉย
ตามองเลยเลื่อนหาห้า-หกนั่น
บ้างเจ็ดแปดแผดเสียงเยี่ยงแมงวัน
บินตามกันพัลเกเฮฮาดม
.
ล้วนลืมตนบนหมายไม่ตายตก
ไร้นรกนำอ้างห่างทุกข์ขม
โลกโสภาน่าเรียงเคียงคู่ชม
ความโง่งมบ่มงามอร่ามกาย
.
อริยสัจ ๔ นี่แก่นก็แค้นขัด
ไม่ปรุงปัดปรับผลจนล่วงสาย
ด้วยว่าหลง ดงสุขปลุกอบาย
เพราะงมงายยศฐาบารมี
.
ต่อตามเติมเริ่มสุด จะหลุดโลก
จึงชะโงกโยกร่างเข้าทางที่
หวังนิพพานงานเด่นเช่นฉิมพลี
จะให้ได้วันนี้ ก่อนพี่ตาย !
.
เหลือสิ่งใดให้ชื่นคืนก่อนสิ้น
หลากทรัพย์สินกลิ่นสีที่เหลือหลาย
จะถมทางอย่างไรให้สบาย
ไร้ความหมายสายไป..ใจนิวรณ์๚ะ๛
.
นิวรณ์ ๕
กิเลสชั้นละเอียด ที่ถูกปรุงขึ้นมาเป็นกิเลสชั้นกลาง เรียกว่า "นิวรณ์ ๕" รบกวน
อยู่ที่ มโนทวาร คำว่า นิวรณ์  แปลว่า เครื่องห้าม หรือ เครื่องกั้น ในที่นี้หมายถึง เครื่องกั้นจิต
มิให้บรรลุถึงธรรม ที่สูงขึ้นไป




เพียงลมหายใจไม่ติดขัด


เพียงลมหายใจไม่ติดขัด
.
มากระเริงเหลิงลอยดังปล่อยกล่าว
เพลินทุกก้าวเกินกล้าคราฮึกเหิม
หมายเพียงอยากลากเอาเข้ามาเติม
ลืมดินเดิมต่อตื่นแค่ยืนตรง
.
เหมือนอยากได้ไม่สิ้นกินเพียงปาก
มีอีกหลากล้นเหลือเพื่อชี้บ่ง
เหมือนไม่จบครบสิ้นถวิลคง
เหลือเพียงปลงเปลี่ยนปรับขับอาการ
.
กายก็วอนร้อนขัดจัดเนียนหนาว
ใจก็ผ่าวเผากรุ่นครุ่นสนาน
ปรารถนามาครบกลบดวงมาน
เกิดอาการร้อนฤทธิ์จากพิษกาม
.
ข้าฯ ต้องได้ใหญ่ดีกว่าที่เห็น
ข้าฯ ต้องเป็นเพ็ญเดือนเคลื่อนโลกสาม
ข้าฯ ต้องเลิศเถิดแถนต้องแหงนตาม
ข้าฯ ใครหยามเย้ยหยันมันต้อง ตาย
.
ข้าฯ ลืมตนบนดินคือถิ่นเกิด
ข้าฯ เลอเลิศเพียงลาภอาบเครื่องหมาย
ข้าฯ คือสัตว์จัดหมู่เพียงดูลาย
ข้าฯ คือคล้ายสัตว์โชว์..ผู้โง่งม
.
ตราบถึงนั้นวันใด..หายใจขัด
จะแจ่มชัดชี้ให้ไม่ขื่นขม
เพียงอากาศสาดปอดยอดชื่นชม
สายจากลมสมค่า ปัญญาคน๚ะ๛
.